สำนักสิริพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ประวัติความเป็นมา
สำนักฝึกอบรมได้ก่อตั้งขึ้นมาพร้อมกับการก่อกำเนิดของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร -ศาสตร์เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2509 โดยได้โอนย้ายมาจากคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีภารกิจหลักในการจัดการฝึกอบรม พัฒนาบุคลากรให้แก่ภาครัฐเป็นลำดับแรก และภาคธุรกิจเอกชนเป็นลำดับถัดมา ในอดีตนับได้ว่า สำนักฝึกอบรมเป็นศูนย์กลางในการพัฒนานักบริหารของระบบราชการไทยที่สำคัญยิ่ง นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งสำคัญในการสร้างบุคลากรด้านการฝึกอบรม ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมหรือวิทยากรฝึกอบรมให้กับส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ รวมตลอดถึงธุรกิจเอกชน การให้คำปรึกษาด้านวิชาการและเทคนิคฝึกอบรมก็นับเป็นภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งมาโดยตลอด สำนักฝึกอบรมเป็นผู้บุกเบิก ผู้นำ ผู้ส่งเสริมสนับสนุนและเป็นแม่แบบด้านการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรในระดับชาติอันเป็นที่ยอมรับกันในสังคมมาโดยตลอด ส่งผลให้กิจกรรมด้านการฝึกอบรมและพัฒนาบุคลากรได้หยั่งรากลึกลงในวงการบริหารของประเทศไทย
ภารกิจการฝึกอบรมในระยะแรกก่อนตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 – พ.ศ. 2508 ดำเนินการในลักษณะการให้ความช่วยเหลือกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ ในการฝึกอบรมข้าราชการ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มพูนความรู้และความสามารถในการปฏิบัติงานของข้าราชการ และได้ดำเนินการฝึกอบรมข้าราชการรวม 6 หลักสูตร คือ
- การฝึกอบรมผู้ดำเนินการฝึกอบรม
- การฝึกอบรมครูผู้ฝึก
- การฝึกอบรมวิชาเทคนิคเฉพาะอย่าง
- การฝึกอบรมหัวหน้างานด้านการบังคับบัญชาและการจัดการ
- การสัมมนาพัฒนานักบริหาร
- การฝึกอบรมปฐมนิเทศ
การฝึกอบรมในระยะที่ 2 ตั้งแต่ พ.ศ. 2509 – 2528 ภายหลังจัดตั้งสำนักฝึกอบรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พ.ศ. 2509 แล้ว ภารกิจของสำนักฝึกอบรมเป็นการดำเนินการให้บริการวิชาการในลักษณะการฝึกอบรมที่สำนักฝึกอบรมเป็นผู้ดำเนินการจัดอบรมเอง ซึ่งถือเป็นงานประจำของสำนักฝึกอบรม และการฝึกอบรมที่สำนักฝึกอบรมให้ความช่วยเหลือกระทรวง ทบวง กรมอื่นในลักษณะช่วยจัดหลักสูตร แนะนำและช่วยเหลือด้านวิทยากร
ภายหลังจากการที่สำนักฝึกอบรมได้จัดการฝึกอบรมเป็นตัวอย่างมายาวนาน ความรู้ด้านเทคนิคทางการฝึกอบรมจึงมีมากพอที่จะรวบรวมเป็นองค์ความรู้มาจัดสร้างเป็นหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาด้านเทคโนโลยีการบริหารและการฝึกอบรม เพื่อเผยแพร่ทั้งความรู้ทางเทคโนโลยีการบริหารที่พัฒนาไปตลอดเวลาและมีการใช้งานอย่างได้ผล และเผยแพร่เทคโนโลยีทางการฝึกอบรมและพัฒนาให้แก่นักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ทิศทางของสำนักฝึอบรมจึงแบ่งออกเป็น 2 ภาคทั้งทางภาคกิจกรรม การฝึกอบรมที่ทำอยู่เดิม และทางภาคการจัดการศึกษาโดยจัดตั้งโครงการบัณฑิตศึกษาเทคโนโลยีการบริหารขึ้นในปีการศึกษา 2537 และยังคงพยายามดำรงฐานะด้านการฝึกอบรมอย่างที่ทำมาแล้วในอดีต ในอีกทิศทางหนึ่งต้องเอาใจใส่กับการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษา ซึ่งจำเป็นต้องติดตามเทคโนโลยีทางการบริหารใหม่ ๆ ที่ใช้ได้ผลตามยุคสมัยเพื่อนำมาใช้ในหลักสูตรการเรียนสอนและต้องคิดค้น รวบรวมความรู้ด้านการฝึกอบรมและพัฒนามาใช้ในการเรียนการสอนด้านการฝึกอบรมและพัฒนาด้วย แนวนโยบายและวัตถุประสงค์จึงปรับเปลี่ยนไป ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ที่สำนักฝึกอบรมพบว่าเป็นด้านของการสร้างหน่วยงานการฝึกอบรมที่สมบูรณ์แบบยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ กล่าวคือ การเป็นสถาบันการฝึกอบรมระดับชาติที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดฝึกอบรมอย่างมีแบบแผนและเป็นมาตรฐานนั้นต้องเป็นสถาบันที่สามารถรวบรวมสร้างและประสานองค์ความรู้ด้านการฝึกอบรมและพัฒนบริหารศาสตร์ได้อย่างได้ผล ในปี พ.ศ. 2547 สถาบันได้พิจารณาเห็นความสำคัญของการจัดการฝึกอบรมซึ่งมีชื่อเสียงมายาวนาน สภาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในการประชุมครั้งที่ 5/2547 เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2547 จึงมีมติให้ปรับบทบาทและภารกิจหลักของสำนักฝึกอบรมใหม่ให้มุ่งเน้นด้านการจัดฝึกอบรมเพียงด้านเดียว โดยเป็นหน่วยงานกลางสนับสนุนการจัดฝึกอบรมของคณะ/สำนัก/โครงการในสถาบัน และปรับโครงสร้างการบริหารสำนักฝึกอบรมใหม่ ให้มีผู้บริหารและคณะกรรมการประจำสำนัก ซึ่งแต่งตั้ง
จากคณาจารย์ของสถาบัน และให้บุคลากรในสำนักฝึกอบรมมีเฉพาะบุคลากรสายสนับสนุนเท่านั้น ทั้งนี้ ให้โอนภารกิจการจัดหลักสูตรอบรม/สัมมนาต่าง ๆ ในระดับที่สถาบันไม่ได้อนุมัติปริญญาทั้งหมดของทุกหน่วยงานมาดำเนินการที่สำนักฝึกอบรม ทำให้สำนักฝึกอบรมมีฐานะเป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินการฝึกอบรมในนามสถาบัน ให้การสนับสนุนการจัดฝึกอบรมของคณะ/สำนักในสถาบันและมีภารกิจในการจัดฝึกอบรมให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสถาบันที่จะสร้างผู้นำสังคมไทยในด้านการบริหารการพัฒนา
ทิศทางและนโยบายการจัดฝึกอบรมของสำนักฝึกอบรม
สำนักฝึกอบรมมีสถานะเป็นหน่วยงานกลางดำเนินการฝึกอบรมในนามของสถาบันและมีภารกิจในการจัดการฝึกอบรมโดยสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสถาบันที่จะสร้างผู้นำสังคมไทยในด้านการบริหารการพัฒนา
นโยบายการจัดฝึกอบรมของสำนักฝึกอบรม ประกอบด้วย
- จัดหลักสูตรฝึกอบรมสำหรับผู้บริหารระดับสูงทั้งในภาครัฐและเอกชน
- เน้นการจัดอบรมที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ที่สร้างชื่อเสียงการเป็นสถาบันอุดมศึกษาระดับภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
- พัฒนาหลักสูตรที่ทันสมัย มีความเหมาะสมกับการพัฒนาประเทศและสร้างเอกลักษณ์ของสถาบัน
- สร้างความร่วมมือกับพันธมิตรจากสถาบันการศึกษาในต่างประเทศในการจัดอบรม
- ส่งเสริมให้บุคลากรของสถาบันพัฒนาผลงานวิจัยของตนไปสู่การจัด
หลักสูตรฝึกอบรม
สำหรับแนวทางการจัดฝึกอบรมของสถาบัน ซึ่งบริหารโดยสำนักฝึกอบรมจะให้ความสำคัญในการบริการฝึกอบรมกลุ่มผู้บริหาร นักวิชาการ หรือผู้ที่ต้องการทักษะชั้นสูงเฉพาะทาง
การบริหารงานของสำนักฝึกอบรม
สำนักฝึกอบรมมีคณะกรรมการบริหารสำนักฝึกอบรม จำนวน 3 ชุด ซึ่งแต่งตั้งตามระเบียบสถาบันฯ ว่าด้วยการบริหารเงินทุนฝึกอบรม พ.ศ. 2548 และพระราชบัญญัติสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาตร์ พ.ศ. 2509 ประกอบด้วย
คณะกรรมการนโยบายและเงินทุนฝึกอบรม คณะกรรมการบริหารสำนักฝึกอบรม คณะกรรมการประจำสำนักฝึกอบรม ซึ่งแต่งตั้งตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พ.ศ. 2509(ในทางปฏิบัติคณะกรรมการชุดนี้จะเป็นชุดเดียวกับคณะกรรมการบริหารสำนักฝึกอบรม)
ภารกิจของสำนักฝึกอบรม
สำนักฝึกอบรมรับผิดชอบดูแลการจัดหลักสูตรฝึกอบรมประเภทต่าง ๆ ดังนี้
- การฝึกอบรมประเภทที่เป็นการจัดให้แก่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งโดยเฉพาะ (In-House Training) ของคณะ/สำนักที่ดำเนินการผ่านสำนักฝึกอบรม
- การฝึกอบรมที่จัดให้แก่สาธารณชนทั่วไป (Public Training) ของคณะ/สำนักที่ดำเนินการผ่านสำนักฝึกอบรม
- การฝึกอบรมที่สำนักฝึกอบรมเป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งมีทั้งประเภท In-House Training และ Public Training
- การฝึกอบรมที่เป็นการให้บริการวิชาการแก่สังคม
- การฝึกอบรมอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมายจากสถาบันให้ดำเนินการจัดอบรม
ก้าวไปข้างหน้าภายใต้ชื่อ “สำนักสิริพัฒนา”
ตลอดระยะเวลาอันยาวนานกว่า 46 ปี ในการให้บริการวิชาการด้านการฝึกอบรม ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่สถาบันโดยเฉพาะการสะท้อนให้เห็นความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาของคณาจารย์ในสถาบันและความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของสถาบันที่มุ่งเน้นความเป็นพัฒนบริหารศาสตร์ แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงด้านวิชาการและนวัตกรรมทางการบริหารสมัยใหม่ รวมถึงภาวะการแข่งขันด้านการฝึกอบรมที่เข้มข้นขึ้น การปรับตัวเพื่อตอบรับการเปลี่ยนแปลงและการรักษาสถานะความเป็นผู้นำด้านการฝึกอบรมจึงเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาดำเนินการ ดังนั้น สภาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในการประชุมครั้งที่ 7/2551 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2551 จึงมีมติปรับโครงสร้างการบริหารสำนักฝึกอบรมใหม่ เพื่อเป็นการยกระดับการบริหารและการบริการวิชาการของสำนักฝึกอบรมให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบันที่จะต้องมีการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการองค์กรที่ดี ตลอดจนเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งมีการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์และปรับเปลี่ยนชื่อหน่วยงานใหม่ โดยขอพระราชทานชื่อจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อใช้แทนชื่อหน่วยงานเดิม โดยได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “สำนักสิริพัฒนา” หมายถึง สำนักที่มีหน้าที่จัดการพัฒนาอันดียิ่ง และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Siripattana Training Center” ทั้งนี้ ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งส่วนราชการในสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2555 ให้ใช้ชื่อ สำนักสิริพัฒนา ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2555 เป็นต้นไป
ปรัชญา
ดำเนินการตามปรัชญาของสถาบัน คือ “สร้างปัญญา เพื่อการเปลี่ยนแปลง” (WISDOM for Change)
วิสัยทัศน์
เป็นศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศด้านการฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ทางการบริหารการพัฒนา
พันธกิจ
- ดำเนินการฝึกอบรมด้านพัฒนบริหารศาสตร์
- ดำเนินการฝึกอบรมด้านองค์ความรู้ในระดับบัณฑิตศึกษา
- สนับสนุนด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและรายได้ให้กับสถาบัน
ยุทธศาสตร์
- ให้บริการที่เป็นเลิศแก่คณาจารย์และบุคคลภายนอกที่ประสงค์จะจัดฝึกอบรม
- มีการพัฒนาคุณภาพการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง
- มีระบบการบริหารจัดการองค์กรที่มีประสิทธิภาพ
เป้าหมายของหน่วยงาน
ให้บริการวิชาการแก่สังคมด้วยการจัดหลักสูตรฝึกอบรมที่เป็นการตอบ สนองความต้องการของสังคมทุกภาคส่วน
วัตถุประสงค์ของหน่วยงาน
- เพื่อเป็นหน่วยงานกลางที่ดำเนินการสนับสนุนและพัฒนาทรัพยากรบุคคลและรายได้ให้กับสถาบัน
- เพื่อเป็นหน่วยงานประสานการถ่ายทอดความรู้และวิทยาการสมัยใหม่ทางด้านพัฒน- บริหารศาสตร์ให้แก่หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจและเอกชน
- เพื่อเป็นหน่วยงานศึกษาวิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ด้านการฝึกอบรมแก่หน่วยงานต่างๆ
- เพื่อเป็นหน่วยงานที่ให้บริการวิชาการแก่สังคมที่เป็นการให้บริการแก่สาธารณะ
บุคลากร
ปัจจุบัน สำนักสิริพัฒนามีอัตรากำลังทั้งสิ้น 27 คน โดยแบ่งกลุ่มผู้ปฏิบัติงานเป็น 2 ส่วน คือ 1) กลุ่มผู้ปฏิบัติงานส่วนหน้า (Front Office) ประกอบด้วย 3 กลุ่มงาน คือ กลุ่มงานการตลาดและประชาสัมพันธ์ กลุ่มงานสารสนเทศ และกลุ่มงานบริการฝึกอบรม 2) กลุ่มผู้ปฏิบัติงานส่วนหลัง (Back Office) ประกอบด้วย 3 กลุ่มงาน คือ กลุ่มงานบริหารและธุรการ กลุ่มงานวางแผนและพัฒนาองค์การ และกลุ่มงานการเงินและพัสดุ
ที่อยู่ติดต่อ
สำนักสิริพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ อาคารสยามบรมราชกุมารี ชั้น 14 เลขที่ 118 ถนนเสรีไทย แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ 10240 โทร.027273231-34 , 027273213-14
E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. , This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. , This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (กลุ่มงานบริการฝึกอบรม) , This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (กลุ่มงานการเงินและพัสดุ)
Website : www.training.nida.ac.th Facebook : https://www.facebook.com/trainingnida/ Youtube : https://www.youtube.com/user/trainingnida/ twitter : https://twitter.com/trainingnida/